ประเพณีตานก๋วยสลาก หมายถึง
ประเพณีถวายทานสลากภัต เป็นวิธีการถวายเครื่องไทยทานแก่พระสงฆ์วิธีหนึ่ง อันเป็นที่นิยมของชาวเหนือ โดยทั่วไปจะเริ่มใน วันเพ็ญ เดือน 12 เหนือ (กันยายน)ถึงแรม 1 ค่ำ เดือนเกี๋ยงดับ (พฤศจิกายน) เมื่อทางวัดและชาวบ้านตกลงกันว่าจะจัดให้มีการกินสลาก ก่อนวันตานก๋วยสลาก
ชาวบ้านจะจัดทำพิธีเตรียมสิ่งของเครื่องไทยทาน 1 วัน เรียกวันที่เตรียมของนี้ว่า “วันดา” ชาวบ้านจะจัดเครื่องไทยทานลงใน
“ก๋วย” เป็นตระกร้าหรือชะลอมขนาดเล็กที่สานด้วยไม้ไผ่)
เรียกว่า “ก๋วยสลาก”
ประวัติความเป็นมาของประเพณีตานก๋วยสลาก
เรื่องราวความเป็นมาของการทานสลากนั้น
มีมาตั้งแต่ครั้นพุทธกาล เรื่องมีอยู่ว่า “ครั้งนั้นพระพุทธเจ้าเสด็จประทับ
ณ พระเชตวันมหาวิหาร วันหนึ่งมีนางกุมารีผู้หนึ่งได้หอบลูกน้อย หนีนางยักขิณี
ผู้ซึ่งมีเวรกรรมต่อกัน วิ่งเข้าไปในวัดขณะที่พระพุทธองค์กำลังแสดงธรรมอยู่นั้น
นางกุมารีได้เข้าไปขอความช่วยเหลือ พระพุทธองค์ก็ตรัสว่า “เวร
ย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร” แล้วก็เทศนาแก่ทั้งคู่
ให้นางยักขิณีรับศีล 5 นางยักขิณีนั้นก็ถามว่า “เมื่อให้รับศีล ปฏิบัติธรรมจะให้ทำอะไรกิน” นางกุมารีนางนั้นก็ขันอาสาให้ไปอยู่ด้วย
นางกุมารีได้อุปการะนางยักขิณี ช่วยกันทำมาหากิน นางยักขิณีซาบซึ้ง
จึงตอบแทนโดยเป็นผู้พยากรณ์ แก่นางกุมารี ว่าให้ทำนาปีที่น้ำเยอะ
ทำนาที่ลุ่มปีที่แล้ง ทำนาบนดอนปีที่น้ำหลาก จนนางกุมารีมีฐานะมั่งคั่งขึ้น
จนชาวบ้านทั่วไปเห็นก็แปลกใจ จึงได้ไปถามนางกุมารี นางก็บอกไปตามความจริง
ฉะนั้นชาวบ้านเวลาจะทำอะไรก็ต้องไปถามนางยักขิณี เสียก่อน
จนผู้คนมีฐานะดีขึ้นกันถ้วนหน้า
เมื่อผู้คนมีฐานะดีขึ้น
จึงนำของมาตอบแทนนางยักขิณีจนมีข้าวของมากมาย นางยักขิณีจึงนำของเหล่านั้นถวายพระ
แต่ไม่รู้ว่าจะเอาอะไรถวายพระสงฆ์รูปไหน จึงทำเป็นสลากภัตร(ก๋วยสลาก) ขึ้น
ให้พระจับเบอร์ด้วยการอุปโลกนกรรม
พระสงฆ์รูปไหนจะได้ของอะไรจะมีค่ามากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นกับโชคของตัวเอง” การทำสลากภัตรของนางยักขิณีนี้
นับเป็นการทานสลากครั้งแรกในพระพุทธศาสนา
ความสำคัญของประเพณีตานก๋วยสลาก
ประเพณีตานก๋วยสลาก
เป็นประเพณีในพุทธศาสนาที่สำคัญอย่างหนึ่งในล้านนาไทย
ซึ่งสืบเนื่องมาจากค่านิยมที่สืบทอดมาช้านาน คือ
๑. ประชาชนว่างจากภารกิจการทำนา
๒. ประชาชนหยุดพักไม่เดินทางไกลเพราะเป็นฤดูฝน
๓. พระสงฆ์จำพรรษาอยู่อย่างพรักพร้อม
๔. ผลไม้มากและกำลังสุก เช่นส้มโอ ส้มเกลี้ยง กล้วย อ้อยฯลฯ
๕. ได้โอกาสสงเคราะห์คนยากจน เป็นสังฆทาน
๖. ถือว่ามีอานิสงส์แรง คนทำบุญจะมีโชคลาภ
๗. มีโอกาสหาเงินและวัสดุบำรุงวัด
ก๋วยสลากจะมีอยู่ ๒ ลักษณะ
๑. ก๋วยน้อย
เป็นก๋วยสลากสำหรับที่จะถวายทานไปให้กับผู้ที่ล่วงลับ
ซึ่งไม่เพียงแต่ญาติน้องเท่านั้นอาจจะเป็นเพื่อนสนิทมิตรสหายก็ได้
หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงที่เราเคยรักและมีคุณต่อเราเมื่อครั้งยังมีชีวิตเช่น ช้าง
ม้า วัว ควายและสุนัข เป็นต้น หรือถ้าไม่รู้ว่าจะถวายทานไปให้ใครก็ถวายทานเอาไว้ภายหน้า
๒. ก๋วยใหญ่
เป็นก๋วยที่จัดทำขึ้นใหญ่เป็นพิเศษซึ่งจะบรรจุข้าวของได้มากขึ้น
ถวายเป็นมหากุศลสำหรับคนที่มีกำลังศรัทธาและฐานะดี เป็นปัจจัยนับว่าได้กุศลแรง
พิธีกรรม
พิธีกรรมในประเพณีตานก๋วยสลากมี ๒ วัน
คือ
๑. ก่อนทำพิธี"ตานก๋วยสลาก"
๑ วัน เรียกว่าวันดา เป็นวันจัดเตรียมสิ่งของเพื่อใส่ในก๋วยสลาก ผู้ชายจะตัดไม้มาจักตอกสลากก๋วย
(ชะลอม) ไว้หลายๆใบตามศรัทธาและกำลังทรัพย์
ฝ่ายหญิงจะจัดเตรียมสิ่งของที่จะนำมาบรรจุในก๋วย เช่นข้าวสาร พริกแห้ง หอม
กระเทียม เกลือ กะปิ น้ำปลา ขนม เมี่ยง บุหรี่ ไม้ขีดไฟ เทียนไข สีย้อมผ้า ผลไม้
รวมทั้งเครื่องใช้ต่าง ๆ แล้วบรรจุลงในก๋วยสลากที่กรุด้วยใบตอง
ใบหมากผู้หมากเมีย"ใส่ยอด" คือธนบัตร ผูกติดไม้
เสียบไว้ในก๋วยให้ส่วนยอดหรือธนบัตรโผล่มาแล้วรวบปากก๋วยสลากตกแต่งด้วยดอกไม้
"ยอด" หรือธนบัตรที่ใส่นั้นไม่จำกัดว่าเป็นจำนวนเท่าใด
ส่วนสลากโชคหรือสลากก๋วยใหญ่
ของที่นำบรรจุในก๋วยเช่นเดียวกับสลากน้อยแต่ปริมาณมากกว่าหรือพิเศษกว่า
สมัยก่อนจะทำเป็นรูปเรือหลังเล็กมีข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ เช่น หม้อข้าว หม้อแกง
ถ้วยแกงถ้วยชาม เครื่องนอน เครื่องนุ่งห่ม อาหารสำเร็จรูปใส่ไว้ด้วย มีต้นกล้วย
ต้นอ้อยผูกติดไว้ "ยอด" หรือธนบัตรจะใส่มากกว่าสลากน้อย
ก๋วยสลากทุกอันต้องมี
"เส้นสลาก" ซึ่งทำจากใบลานหรือปัจจุบันใช้กระดาษมาตัดเป็นแผ่นยาวๆ
เขียนชื่อเจ้าของไว้ และยังบอกอีกว่าจะอุทิศไปให้ใคร เช่น " สลากข้างซองนี้
หมายมีผู้ข้า นาย... นาง ขอทานไปถึงกับตนภายหน้า "หมายถึงถวายทานเพื่อเป็นกุศลแก่ตนเองเมื่อล่วงลับไป และอีกแบบหนึ่งคือ"สลากข้าวซองนี้ หมายมีผู้ข้านาย.....นาง.....ขอทานไปถึงยังนาย/นาง....(ชื่อผู้ตาย)
ผู้เป็น.......(ความเกี่ยวข้องกับผู้ให้ทาน)ที่ล่วงลับ
ขอให้ไปรอดไปถึงจิมเต่อ" หมายถึงอุทิศส่วนกุศลไปให้ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว
ในวันดาสลาก จะมีญาติพี่น้องเพื่อนฝูงจากหมู่บ้านต่างๆ ที่รู้จักมาร่วมทำบุญ
โดยนำเงินหรือผลไม้เช่น กล้วย อ้อย ฯลฯ
มาร่วมด้วยและช่วยจัดเตรียมสิ่งของใส่ก๋วยสลาก เจ้าภาพต้องเลี้ยงดูอาหาร
เหล้ายาและขนม
๒. วันทานสลาก ชาวบ้านนำก๋วยสลากที่จัดทำแล้วไปวัด และเอา"เส้นสลาก"
ทั้งหมดไปรวมกันที่หน้าพระประธานในวิหาร จะมีการฟังเทศน์อย่างน้อย ๑ กัณฑ์
ผู้รวบรวมสลากมักจะเป็นมัคทายก (แก่วัด)
นำเส้นสลากทั้งหมดมารวมกันแล้วแบ่งเส้นสลากทั้งหมด เป็น ๓ ส่วน(กอง)
ส่วนหนึ่งเป็นของพระเจ้า (คือของวัด)อีก ๒
ส่วนเฉลี่ยไปตามจำนวนพระภิกษุสามเณรที่นิมนต์มาร่วมในงานทำบุญ หากมีเศษเหลือมักเป็นของพระเจ้า
(วัด) ทั้งหมด
พระภิกษุสามเณรเมื่อได้ส่วนแบ่งแล้ว
จะยึดเอาชัยภูมิแห่งหนึ่งในวัดและออกสลากคือ อ่านชื่อเส้นสลากดังๆ
หรือให้ลูกศิษย์(ขะโยม) ที่ได้ตะโกนตามข้อความที่เขียนไว้ในเส้นสลาก
หรือเปลี่ยนเป็นคำสั้นๆเช่น ศรัทธา นายแก้ว นามวงศ์ มีนี่เน้อ " บางรายจะหิ้ว
"ก๋วย"
ไปตามหาเส้นสลากของตนตามลานวัดเมื่อพบสลากของตนแล้วจะเอาสลากของตนถวายพระ
พระจะอ่านข้อความในเส้นสลากและอนุโมทนาให้พรแล้วคืนเส้นสลากนั้นให้เจ้าของสลากไป
เจ้าของสลากจะนำเส้นสลากไปรวมในวิหาร เมื่อเสร็จแล้วมัคทายกหรือแก่วัด
จะนำเอาเส้นสลากนั้นไปเผาหรือทิ้งเสีย
การตานก๋วยสลากมีประโยชน์และคุณค่าดังนี้
๒.
เป็นการแสดงความกตัญญูต่อญาติมิตรที่ล่วงลับไปแล้ว
๓.
เป็นการบริจาคทานที่ถือว่ามีอานิสงส์มาก
๔.
เป็นการหาเงินและวัสดุมาบูรณปฏิสังขรณ์วัด
แหล่งสืบค้นข้อมูล
ประเพณีตานก๋วยสลาก
. เข้าถึงได้จาก http://www.watkoh.com/data/ssn_phitee/slakapat.php http://www.med.cmu.ac.th/secret/admin/web/custom5_8.html
http://thansalak.wordpress.com สืบค้นวันที่
30 กันยายน พ.ศ. 2556