พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
เป็นพิพิธภัณฑ์ในความดูแลของสถาบันพระปกเกล้า ตั้งที่อาคารกรมโยธาธิการเดิม
บริเวณสี่แยกผ่านฟ้า เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
อาคารหลังนี้เป็นอาคารสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 6-7 ซึ่งสถาบันพระปกเกล้า
ได้บูรณะเพื่อจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อรวบรวมข้าวของเครื่องใช้ส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี
พระบรมราชินี จัดแสดงภาพถ่าย เอกสาร และพระราชประวัติของพระองค์
ประวัติ
เริ่มก่อสร้างขึ้นใน
พ.ศ. 2449 ในปลายรัชกาลที่ 5 ใช้เวลาก่อสร้างทั้งสิ้น 6 ปี และเปิดให้เช่าเป็นที่ตั้ง "ห้างยอนแซมสัน"
ดำเนินธุรกิจขายผ้าฝรั่งและตัดชุดสูทสากลที่มีชื่อเสียงในสมัยรัชกาลที่ 6 ต่อมาเมื่อห้างยอนแซมสันเลิกกิจการ อาคารหลังนี้จึงเปลี่ยนเป็น
"ห้างสุธาดิลก" ขายเครื่องก่อสร้างและเครื่องสุขภัณฑ์ต่างๆ จนกระทั่ง
พ.ศ. 2476 กรมโยธาเทศบาลจึงเช่าอาคารใช้เป็นที่ทำการของกรม
จนกระทั่งกรมนี้เปลี่ยนชื่อเป็นกรมโยธาธิการดังในปัจจุบัน
รูปแบบสถาปัตยกรรมของอาคารหลังนี้ออกแบบโดยนายชาร์ล
เบเกอแลง สถาปนิกชาวฝรั่งเศส-สวิส เป็นอาคาร 3 ชั้น
อิทธิพลสถาปัตยกรรมตะวันตกแบบนีโอคลาสสิค มีหอคอยยอดโดม
ตกแต่งด้วยลายปูนปั้นแบบกรีก-โรมัน ในปี พ.ศ. 2538 กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนอาคารเป็นโบราณสถานแห่งชาติ
อาคารกรมโยธาธิการหลังนี้ ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยาม
พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

การจัดแสดง
พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
แบ่งออกเป็น 3 ชั้น โดยแต่ละชั้นจะจัดแสดงเรื่องราวต่าง ๆ
ที่เกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินี
โดยสามารถแบ่งได้ดังนี้
ห้องจัดแสดงชั้นที่ 1
ห้องจัดแสดงบริเวณชั้น
1 ของพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงเรื่องราวต่าง ๆ
ที่เกี่ยวข้องกับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ได้แก่ พระราชประวัติส่วนพระองค์
ตั้งแต่ขณะทรงพระเยาว์ อภิเษกสมรส จนกระทั่งเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2527 รวมทั้ง
การจัดแสดงเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจต่าง ๆ เช่น
การเสด็จพระราชดำเนินประพาสเมืองต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ
การตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งเสด็จไปประทับ ณ
ประเทศอังกฤษ และพระราชกรณียกิจขณะเสด็จกลับมาประทับ ณ ประเทศไทยเป็นการถาวร
นอกจากนี้ ยังจัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้ส่วนพระองค์ด้วย
ห้องจัดแสดงชั้นที่ 2
ห้องจัดแสดงบริเวณชั้น
2 ของพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงเกี่ยวกับพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ตั้งแต่ขณะทรงพระเยาว์ เสด็จเข้าศึกษาที่ทวีปยุโรป ทรงพระผนวช
ทรงอภิเษกสมรสกับหม่อมเจ้ารำไพพรรณี สวัสดิวัตน์ (พระยศขณะนั้น)
เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ทรงสละราชสมบัติ จนกระทั่ง เสด็จสวรรคตและการถวายพระเพลิงพระบรมศพ
ณ ประเทศอังกฤษ จนกระทั่ง เชิญพระบรมอัฐิกลับมายังประเทศไทย นอกจากนี้
ยังจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับพระจริยวัตรและพระราชนิยมส่วนพระองค์ในด้านต่าง ๆ
เช่น ดนตรี กีฬา ภาพยนตร์
ห้องจัดแสดงชั้นที่ 3
ห้องจัดแสดงบริเวณชั้น
3 ของพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงเครื่องใช้ส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
เช่น ฉลองพระองค์ พระมาลา ฉลองพระบาท รวมทั้ง พระราชกรณียกิจต่าง ๆ เช่น
การจัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับพิมพ์อักษรไทยที่สมบูรณ์
การพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตที่จบการศึกษาเป็นครั้งแรกของประเทศไทย พระราชดำริที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญในพิธีฉลองพระนคร 150 ปี
การเปิดสะพานพระพุทธยอดฟ้าและปฐมบรมราชานุสรณ์ พระราชลัญจกรในพระองค์
ภายในพิพิธภัณฑ์ฯนี้
มีทั้งรูปภาพ ประราชประวัติ และข้าวของเครื่องใช้ทั้งเครื่องแต่งกาย อาวุธ
เครื่องใช้ รวมถึงของสะสม และสิ่งของต่างๆที่พระองค์รัชกาลที่ 7 เคยใช้
โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินีให้ทรงนำมาจัดแสดง
"พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว" รับรองว่าจะได้เห็นถึงอดีตเหมือนได้นั่งเครื่องไทม์แมกชีนกลับไปอยู่ในเหตุการณ์อันทรงคุณค่าของยุคนั้นเลยทีเดียว
"หญิงไทยในยุคเปลี่ยนผ่านสู่ปัจจุบัน"
วันเสาร์ที่ 24 สิงหาคม 2556 เวลา
12.30-16.30 พิพิธภัณฑ์ฯได้จัดงานเสวนาโครงการ
"หญิงไทยในยุคเปลี่ยนผ่านสู่ปัจจุบัน" โดยวิทยากรคือคุณวิกัลย์
พงศ์พนิตานนท์ หัวหน้าหอจดหมายเหตุศิริราชพยาบาล และคุณพิมพ์ฤทัย ชูแสงศรบรรณาธิการบริหารนิตยสารลิซ่า
เริ่มจาก
น.ส.วิกัลย์ ที่สะท้อนบทบาทโดดเด่นของผู้หญิงในช่วงหลังเสียกรุงจนถึงสงครามโลกครั้งที่
2 (2310-2488) โดยเฉพาะรัชสมัย ร.6-ร.7
อย่างการได้รับการศึกษาและความรู้ด้านการพยาบาล
ที่สื่อว่าบทบาทของผู้หญิงไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่งานครัวเท่านั้น
"ปัจจัยเรื่องของเศรษฐกิจในช่วงสมัยรัชกาลที่ 3ที่เริ่มมีการทำการค้ากับชาวตะวันตก เป็นสิ่งที่กระตุ้นให้ผู้หญิงไทยต้องเปลี่ยนหน้าที่มาทำการค้าขายมากกว่าการทำงานบ้านอย่างการปักผ้าทอผ้า เรื่อยมาจนถึงรัชกาล 4 ส่วนรัชกาลที่ 5
ถือเป็นจุดเปลี่ยนของหญิงไทยครั้งสำคัญ
เพราะไม่เพียงแค่ประเทศสยามจะรับวัฒนธรรมการแต่งกายจากตะวันตก แต่ผู้หญิงไทยเริ่มได้รับการศึกษามากขึ้น
เช่น มีการตั้ง รร.กุลสตรีวังหลัง ซึ่ง รร.สำหรับผู้หญิงที่เด่นชัดที่สุดนั้น คือรร.หญิงแพทย์ผดุงครรภ์แลการพยาบาลไข้
ที่ก่อตั้งโดยสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
(พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี)
จวบจนกระทั่งถึงรัชกาลที่ 6ที่เริ่มตระหนักสิทธิของผู้หญิงมากขึ้น โดยกฎมณเฑียรบาลระบุว่า
การแต่งงานระหว่างชายหญิงนั้นจะต้องมีการจดทะเบียนสมรสและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี
ถือเป็นคู่อภิเษกคู่แรกที่ทรงจดทะเบียนสมรสรวมถึงการตั้งสภาอุณาโลมแดงแห่งชาติสยาม สภากาชาดไทย ที่เน้นให้ผู้หญิงมีบทบาทในการทำงานนอกบ้านเพื่อช่วยเหลือสังคมมากขึ้นเช่นกัน"
ส่วนพิมพ์ฤทัย
ชูแสงศรี ผู้คร่ำหวอดในแวดวงนิตยสารมากว่า 30 ปี
ได้สะท้อนภาพการเปลี่ยนแปลงของผู้หญิงผ่านรูปแบบของแมกกาซีน
เพื่อให้เห็นภาพหญิงไทยที่เป็นตัวของตัวเองเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันว่า
จากประสบการณ์ด้านสื่อมวลชนมากว่า 30 ปีนั้นมองว่านิตยสารเป็นอะไรที่สื่อบทบาทของผู้หญิงไทยได้เห็นชัดเจนที่สุดโดยเฉพาะหนังสือพิมพ์สำหรับผู้หญิงที่บูมสุดๆ ในช่วงรัชกาลที่ 6-7ที่รู้จักกันดีว่า "หญิงไทย"ซึ่งไม่เพียงรวบรวมไว้ซึ่งคอลัมน์สำหรับผู้หญิง
แต่เนื้อหาภายในยังสะท้อนถึงความขัดแย้งถกเถียงถึงสถานภาพของผู้หญิงเช่นกัน
จึงตอบโจทย์ผู้หญิงได้ดี
ซึ่งทำให้ตระหนักว่าผู้หญิงเริ่มตื่นตัวและหันมาสนใจในสิทธิของตัวเอง
มากกว่าที่จะสนใจเพียงเนื้อหาทั่วๆ
ไปของนิตยสารที่ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของหนังสืออ่านเล่นในบ้านเราอย่าง
"นารีรมย์" และ "กุลสตรี"

แหล่งข้อมูล
พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว.
เข้าถึงได้จาก https://www.facebook.com/kingprajadhipokmuseum
สืบค้นวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2556
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น